๑๙๓. ระบบบริการสาธารณสุข ประเทศญี่ปุ่น [ตอนที่ ๑]

เนื้อหาในเอ็นทรี่ย์นี้ เป็นกระทู้ที่ผมตั้งในพันทิพเมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อน  เพื่อบอกเล่าความเป็นไปในระบบบริการสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่น และเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างระบบของญี่ปุ่นกับระบบของไทย

ผมมองในฐานะ “ผู้รับบริการในประเทศญี่ปุ่น” และในฐานะ “ผู้ให้บริการในประเทศไทย” ครับ

เนื่องจากช่วงนี้ผมอาจจะวุ่นๆ กับการเรียน ไม่ค่อยมีเวลาอัพเดตบล็อกบ่อยๆ อย่างเมื่อก่อน ผมจึงขอคัดลอกเรื่องนี้จากพันทิพมาบอกเล่าสู่กันฟังในที่นี้ โดยตัดแบ่งเป็นตอนย่อยๆ เพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกคนครับ

ระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลญี่ปุ่น

ผมเพิ่งใช้เข้ารับการผ่าตัดและรักษารากฟันในญี่ปุ่นมาไม่นาน จึงลองค้นข้อมูลระบบบริการสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นมาบอกเล่าสู่กันฟัง เผื่อว่าจะเป็นข้อเปรียบเทียบกับระบบของประเทศไทยได้บ้างครับ

สิ่งแรกที่ต้องยอมรับคือ การรักษาพยาบาลในญี่ปุ่นเป็นงานบริการเชิงพาณิชย์ ใช้ระบบร่วมจ่าย (co-payment) ไม่มีการเอ่ยอ้างคุณธรรมจริยธรรมหรืออุดมการณ์เลื่อนลอยเพื่อขอรับปริการฟรีสำหรับคนทั่วไป 

ตามปกติแล้ว ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นจะสูงมาก คนที่มาท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นแล้วเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินคงพอทราบราคาดี แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นระยะยาว ทั้งในฐานะพลเมือง (citizen) และในฐานะคนต่างชาติ จะได้รับสิทธิเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมีสิทธิประโยชน์หลายประการด้วยกัน

ระบบบริการสาธารณสุขของญี่ปุ่น ขับเคลื่อนด้วยระบบประกันสุขภาพของรัฐบาล (Universal Public Health Insurance System – PHIS) พลเมืองทุกคน และชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศญี่ปุ่นในระยะยาว ต้องขึ้นทะเบียนในระบบ หากไม่ขึ้นทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล และหากขึ้นทะเบียนล่าช้า จะต้องเสียค่าธรรมเนียมย้อนหลัง แต่ไม่ได้รับคืนส่วนต่างค่ารักษาพยาบาล

ผู้ประกันตนในระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลญี่ปุ่น จะต้องเสียเบี้ยประกันรายเดือน ราคาแตกต่างกันไปตามรูปแบบของประกัน เช่น ตัวผมเสียเบี้ยประกันในฐานะนักศึกษา เดือนละประมาณ 2,000 เยน ส่วนพนักงานกินเงินเดือนก็อาจต้องเสียเพิ่มมากขึ้นตามรายได้และตามชนิดของประกัน

เมื่อเสียเบี้ยประกันรายเดือนแล้ว จะได้รับสิทธิลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้ง โดยจ่ายเพียง 30% ของราคาเต็ม (หรือ 20% สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ หรือ 10% สำหรับผู้มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป) และได้รับสิทธิพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมในรายละเอียด แต่หากไม่มีประกันสุขภาพแล้วก็เสียเต็มราคา และเสียสิทธิพิเศษอื่นๆ

นั่นหมายความว่า หากผมไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลญี่ปุ่น ผมอาจจะต้องเสียค่ารักษาฟันรวมทั้งหมดเกือบ 70,000 เยน แทนที่จะเป็น 20,000 เยนอย่างที่ผมจ่ายไปในตอนแรก

ระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลญี่ปุ่นครอบคลุมทั้งสถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน หรือแม้แต่ร้านเภสัชเอกชนทั่วไป ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐสามารถควบคุมราคายาและค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งระบบ ผู้ประกันตนร่วมจ่ายเพียง 30% ทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลสังกัดใด 

ส่วนต่างค่ารักษาพยาบาล 70% สถานพยาบาลเบิกจากรัฐบาล ซึ่งงบประมาณดังกล่าวนี้รัฐบาลได้รับจากค่าเบี้ยประกันสุขภาพของประชาชน รวมถึงส่วนแบ่งงบประมาณของประเทศ เมื่อพิจารณาตรงจุดนี้จะเห็นได้ว่า ระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลญี่ปุ่นใช้ระบบเงินทุนหมุนเวียน จากประชาชนสู่รัฐ รัฐสู่สถานบริการ และสถานบริการสู่ประชาชน

แตกต่างจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ที่รัฐบาลไทยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) เป็นผู้กำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่อคนต่อปีในอัตราคงที่ให้กับโรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลฟรี แต่โรงพยาบาลรัฐกลับประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

ติดตามต่อในตอนที่ ๒ : ภาพรวม ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่น