๑๘๔. การเมือง การเมือง การเมือง

หายไปช่วงระยะหนึ่ง พร้อมกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่เป็นปกติสุข ไม่ใช่เพียงเพราะการประกาศกฎอัยการศึกหรือการกระทำรัฐประหาร แต่เพราะการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคนที่มีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน รอยแยกแตกร้าวในสังคมไทยที่ดำเนินมานานนับสิบปีถึงคราวแตกหักกันในครั้งนี้

ความวุ่นวายปรากฏอยู่ทั่วไปตามโซเชียลเน็ตเวิร์ค ถึงแม้ไม่อยู่ในประเทศไทยก็รับรู้ได้

ผมคงไม่ตีความ ว่าเหตุการณ์การเมืองไทยปัจจุบันเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ผมอาจจะมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างหนึ่ง ในขณะที่คนอื่นๆ อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันไป หากพูดคุยกันแล้วต่างฝ่ายต่างยอมรับก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่บางทีบรรยากาศอย่างนั้นอาจจะมีไม่มากนักท่ามกลางไฟการเมืองที่ร้อนระอุอย่างที่กำลังเป็น

ผมเห็นใครต่อใครที่เคยรู้จักกัน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน กลับต้องมาโกรธเกลียดกันเพียงเพราะ “เธอเป็นแดง ฉันเป็นเหลือง” แล้ว หดหู่ใจครับ

ผมไม่เคยคิด ไม่เคยคาดฝันเลยว่า วันหนึ่งเราจะมาไกลจนถึงจุดนี้

ความคิดทางการเมืองเป็นเรื่องหลากหลาย มีทั้งประชาธิปไตย (democracy) เผด็จการ (dictatorship) สังคมนิยม (Socialism) สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ฯลฯ สารพัดคำศัพท์ที่ประดิษฐ์ไว้เป็นตัวแทนความคิดทางการเมืองแบบต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีแนวคิดทางการเมืองกระแสรองอีกหลายกระแสที่คล้ายกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง ปะปนกันไป ไม่ว่าจะเป็นอนุรักษ์นิยม (conservative) หรือเสรีนิยม (liberalism) หรืออะไรอื่นๆ ก็ตาม

เรามองเห็นอะไรจากความหลากหลายตรงนี้บ้าง ..

เป็นไปไม่ได้เลยที่คนสองคน, หรือมากกว่า, จะคิดเห็นตรงกันในทุกเรื่องเหมือนวงกลมที่ซ้อนทับ โดยเฉพาะความเห็นทางการเมือง แต่ละคนย่อมมีความคิดเห็นจำเพาะของตนเองทั้งนั้น มันอาจจะคาบเกี่ยวคล้ายคลึงกับคนอื่นๆ บ้าง แต่ก็มีความแตกต่างแฝงอยู่เช่นกัน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะมีสิ่งใดที่จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างนั้นได้ ถ้าไม่ใช่ด้วยการยอมรับความแตกต่าง เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน เปิดหูเปิดตารับรู้ความเห็นที่ตรงข้ามกับเรา สิ่งใดที่เราไม่เคยก็จะได้รู้ สิ่งใดที่อีกฝ่ายรับรู้มาคลาดเคลื่อนก็จะได้ปรับความเข้าใจให้ตรงกัน ไม่ใช่เอาความคิดที่แตกต่างมาเชือดเฉือนฆ่าฟันกันอย่างหน้ามืดตามัว

คงไม่คาดหวังว่าเราจะอยู่ในโลกอุดมคติแบบเดอร์กไฮม์ (Emile Durkheim) ที่เชื่อว่าความแตกต่างจะช่วยเติมเต็มสังคม หรือจะอยู่ในโลกพระศรีอาริย์ (Utopia) ที่ทุกคนทุกอย่างเท่าเทียมกัน แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราน่าจะช่วยให้เกิดขึ้นได้ก็คือ การยอมรับว่าความแตกต่างนั้นมีอยู่ และสามารถอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้ โดยไม่ตัดสินคุณค่าของคนทั้งคนด้วยความแตกต่างเพียงไม่กี่ประเด็น และโดยตระหนักรู้อยู่เสมอว่าคนหนึ่งคนย่อมมีมิติชีวิตที่มากกว่าแค่ทัศนคติทางการเมือง

การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ต่างฝ่ายต่างอ้างชาติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ใครเป็นคนดังคนดีในสมัยหนึ่งก็ได้ขึ้นเถลิงอำนาจ เมื่อหมดความดังความดีก็ร่วงหล่นกันไป เวียนวนเป็นวัฏจักร ความชอบพอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ผูกพันกับผลประโยชน์อย่างแยกไม่ออก ต่างแต่ใครจะอ้างว่าประโยชน์ส่วนตนคือผลประโยชน์ชาติ ก็เท่านั้นเอง

รู้จักกันมานาน รู้ใจกันมานาน มีอะไรคล้ายกันในหลายๆ เรื่อง น่าจะรักกันได้ กลับมาตัดขาดกันเพียงเพราะสีเสื้อการเมือง ผมคิดว่ามันไม่คุ้มเลย ตรงกันข้ามหากเราจำกัดพื้นที่การเมืองให้อยู่กรอบกติกา แสดงความเห็นต่างในวิถีทางทางการเมืองอย่างเหมาะสม ไม่เล่นนอกกรอบ ไม่เบียดเบียนระราน แล้วเผื่อพื้นที่ไว้ให้กับความคิดเห็นในเรื่องอื่นๆ บ้าง น่าจะดีไม่น้อย

ผมก็คิดไปเรื่อยเปื่อย คงจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่คัดค้าน มีทั้งคนที่รักและเกลียดผมปะปนกันไป ก็ไม่ว่ากันครับ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน