หลายวันก่อน ผมเปิดเว็บไซต์ค้นวารสารไปเรื่อยเปื่อย บังเอิญพบบทความที่น่าสนใจ ชื่อ “5 Phases Of PhD Motivation” จากหนังสือ “17 Simple Strategies To Survive Your PhD” ของ Julio Peironcely หลังจากอ่านแล้วเห็นว่าน่าสนใจ จึงเรียบเรียงเป็นภาษาไทยไว้แบ่งปันกัน
เนื้อหาของบทความขนาดสั้นนี้ เกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจของผู้เรียนปริญญาเอก ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับขั้นจากระยะเร่ิมต้นจนเรียนจบ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอก หรือแม้แต่นักเรียนแพทย์ก็คงนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของตนเองได้เช่นเดียวกัน
ผมไม่ได้แปลทุกข้อความตรงตามฉบับ แต่เรียบเรียงเนื้อหาเทียบเคียงกับการเรียนแพทย์ โดยยังคงสาระสำคัญของบทความเอาไว้ดังเดิม สำหรับให้น้องๆ นักเรียนแพทย์ได้อ่านกันครับ
…
บันได ๕ ขั้นในการเรียน อธิบายได้ดังนี้
บันไดขั้นที่ ๑ มองโลกอย่างอ่อนหัด (Uniformed Optimistim)
ช่วงเริ่มต้นของการเรียน ทุกอย่างดูน่าสนใจ น่าเรียนรู้ไปทั้งหมด ในระยะนี้ผู้เรียนมีความมุ่งมั่นอย่างเหลือล้นที่จะศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จตามเป้าหมาย บางคนอาจคาดหวังเอาไว้ล่วงหน้าว่าตนเองจะต้องได้รับเหรียญรางวัล เกียรตินิยม ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ หรือเป็นนักเรียนตัวอย่างที่ทุกคนชื่นชม
หลายคนอาจรู้สึกคุ้นๆ กับความรู้สึกแบบนี้ มันเป็นความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสโลกใหม่ สภาวะแวดล้อมใหม่ๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูดีมากกว่าที่เคยเป็น เส้นทางชีวิตดูสดใสยิ่งกว่าที่ผ่านมา ความรู้สึกนี้อาจจะคงอยู่สักเดือนสองเดือนหลังเปิดเรียน หลังจากนั้นความจริงอันโหดร้ายก็จะค่อยๆ เปิดเผยตัว
ชีวิตของนักเรียนแพทย์ ปี ๑ ที่ศาลายาก็คงเป็นแบบนี้เหมือนกัน
…
บันไดขั้นที่ ๒ ความจริงอันโหดร้าย (Informed Pessimism)
หลังจากเปิดเรียนมาสักระยะ การเรียนเริ่มแรกที่ดูเหมือนจะเข้าใจดีก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื้อที่เพิ่มมากขึ้น ภาระงานที่เพิ่มพูนเข้ามาโดยไม่ทั้นตั้งตัว ความเข้าใจที่เคยมีกลับกลายเป็นความไม่เข้าใจ ทุกสิ่งทุกอย่างดูมืดมนราวกับว่ากำลังเดินหลงทาง
ระยะนี้เป็นช่วงหลังจากที่ผู้เรียนได้ล่วงรู้ถึงความจริงว่าโลกไม่ได้สดใสอย่างที่เคยฝัน ตรงกันข้ามกลับมีอุปสรรคอยู่มากมาย ความท้อถอยจะมีมากขึ้นหากต้องเรียนในเรื่องที่ตัวเองไม่ชอบมาก่อน หรือเกิดอุบัติเหตุบางอย่างที่กระทบกระเทือนจิตใจจนโกรธเกลียดสิ่งที่ตนเองกำลังเรียน
สำหรับการเรียนแพทย์ โดยเฉพาะที่ศิริราช อาจต้องก้าวข้ามบันไดขั้นนี้ถึง ๓ ครั้ง คือ ปี ๒ ปี ๔ และ ปี๖
…
บันไดขั้นที่ ๓ หุบเหวแห่งความมืดมน (Valley of Shit)
เมื่อได้เห็นความจริงมากขึ้น ทุกอย่างกลับดูมืดมนลงไปมากกว่าเดิม จุดหมายที่เคยฝันไว้ในคราวแรกเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันที่ดูเหมือนจะไม่มีวันเป็นจริง หลายคนเริ่มท้อถอย บางคนถึงกับนอนร้องไห้ทุกคืน ในระยะนี้ผู้เรียนอาจเริ่มมองว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่เป็นเรื่องเสียเวลา ไร้ประโยชน์ อยากจะเลิกเรียนแล้วหนีไปเสียให้พ้น
บันไดขั้นนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เป็นจุดที่ความล้มเหลวกับความสำเร็จวัดกันด้วยการตัดสินใจง่ายๆ เพียงครั้งเดียว
…
บันไดขั้นที่ ๔ กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง (Crash and Burn) (เฉพาะบางคน – optional)
เมื่อผ่านบันไดขั้นที่ ๓ ถ้ายังปล่อยให้ความท้อถอยครอบงำจิตใจต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ไข ในที่สุดทุกอย่างก็สายเกินเยียวยา ในระยะนี้ผู้เรียนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าการอดทนดึงดันต่อไปไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่จะทำร้ายตนเองเท่านั้น จึงล้มเลิกความตั้งใจ แล้วเลือกที่จะลาพักการเรียน หรือไม่เช่นนั้นก็ลาออกกลางครัน
หลายคนยอมหยุดอยู่ที่บันไดขั้นนี้ แล้วเลือกที่จะหันหลังเดินย้อนกลับเส้นทางเดิม
…
บันไดขั้นที่ ๕ ดวงตาเห็นธรรม (Informed Optimism)
หลังจากผ่านเรื่องราวต่างๆ มานับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทาง ในระยะนี้ผู้เรียนเริ่มเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง มองเห็นว่าการเรียนไม่ใช่ของง่ายเหมือนอย่างที่คาดหวัง แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินกำลังที่จะเรียนรู้ให้เข้าใจ
บางคนอาจคิดว่าตนเองน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ในขณะที่อีกหลายคนคิดว่า ความพยายามที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนที่มากเพียงพอ เมื่อมาถึงจุดนี้ความสำเร็จในการเรียนก็อยู่ไม่ไกล ถึงแม้ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตามที่ต้องการในครั้งแรก อย่างน้อยก็เรียนต่อเนื่องได้จนสุดทาง
บันไดขั้นนี้คือขั้นที่มองเห็นความจริงตามที่เป็น ไม่ดื้อรั้น แต่ก็ไม่ท้อถอย เข้าใจความสามารถของตนเอง วางเป้าหมายที่เหมาะสมแล้วก้าวไปให้ถึงเป้าหมายนั้นอย่างภาคภูมิใจ
…
ผู้เขียน (Julio Peironcely) กล่าวเพิ่มเติมว่า บทความนี้เก็บข้อมูลจากนักเรียนปริญญาเอกรวบรวมไว้หลายปี คงพอจะใช้อ้างอิงได้ว่า ทุกๆ คนต่างก็เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่อาจจะเข้มข้นแตกต่างกันไป
สาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการฝากไว้ในบทความนี้คือ ไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดก็ขอให้มีสติ ควบคุมอารมณ์ของตนเองไว้ให้ดี อย่ามองโลกในแง่ดีหรือร้ายจนเกินไป ขอให้มองตามความเป็นจริง มองอย่างรู้เท่าทัน
“Stay cool, be water my friend.” – ผู้เขียนกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้อย่างนั้น