๑๖๖. ระหว่างทางที่ผ่านมา

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องผ่านเข้ามามาก กระตุ้นความคิดจนฟุ้งซ่านไปหลายครั้ง ระบายความคิดเห็นส่วนหนึ่งลงบนวอลล์เฟซบุ๊ค กลับมานั่งอ่านดูอีกทีก็นึกขำ บางทีอารมณ์เพียงชั่วครู่ชั่วคราวก็ทำให้เราคิดอะไรแผลงไปได้เหมือนกัน

จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เคยมีคนบอกกับผมว่า ในยามที่เราเกิดความรู้สึกสะเทือนใจจนถึงระดับหนึ่ง (เกิน threshold) เราจะกลายเป็นศิลปิน สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเราออกมาได้มาก ทั้งที่เราอาจไม่เคยรู้สึกตัวมาก่อนเลยว่า สิ่งต่างๆ เหล่านั้นอัดแน่นอยู่ภายในใจของเรา เตรียมพร้อมที่จะปรากฏตัวออกมาตลอดเวลา

แต่ผมไม่ใช่ศิลปิน ผมก็แค่คนธรรมดา ..

เหมือนเป็นการระบาย ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้, ผมคัดลอกข้อความบางส่วนจากวอลล์เฟซบุ๊คของตัวเองมาลงไว้ในที่นี้อีกครั้ง

๑.

เมื่อเราทำสิ่งใดพลาดพลั้ง แล้วมีคนว่ากล่าวตักเตือนเรา แนะนำเรา เราไม่ควรถือโทษโกรธแค้นที่เขาขัดอารมณ์ แต่พึงขอบคุณ แล้วกลับมาทบทวนตัวเราเองว่า เราผิดพลาดจริงหรือไม่ ควรแก้ไขอย่างไร

ถ้าเรามัวแต่คิดเคียดแค้น ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตน ก็เท่ากับปิดหนทางที่จะปรับปรุงตัว หมดโอกาสพัฒนาตนเอง ทำได้เพียงก้าวพลาดซ้ำๆ แล้วย่ำอยู่ที่เดิมเท่านั้นเอง

#เตือนตนเอง

๒.

เมื่อเริ่มเรียนประวัติศาสตร์ คุณครูสอนว่า อย่าเพิ่งเชื่อหลักฐานที่เห็นด้วยตาหรือฟังด้วยหูในทันที อย่าเชื่อโดยอคติ แต่พึงพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อนว่าที่มาของหลักฐานนั้นมีความน่าเชื่อถือมากเพียงไร เนื้อหาหลักฐานสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ หรือเพียงแต่ถูกสร้างและตีความด้วยผลประโยชน์บางประการ

ประวัติศาสตร์ในอดีตเขียนโดยผู้ชนะ ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเขียนโดยผู้กุมสื่อมวลชน แต่การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ควรติดกรอบเพียงหลักฐานจากสองกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ควรเรียนให้กว้างและครอบคลุม

ผ่านมาหลายปี คำสอนของคุณครูยังเป็นจริงเสมอ

#สิ่งที่คิดได้ขณะนั่งฟัง นศ.นำเสนอผลงาน — at อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (SiMR) ร.พ.ศิริราช.

๓.

เวลาเจอปัญหาเกี่ยวกับ conflict of interests นึกถึงคำแนะนำของ อ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย (อธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) เมื่อคราวอบรมที่ มสธ. ว่า เวลาจะทำงานอะไรก็ให้นึกถึง win-win-win situation

win ตัวแรกคือตัวเราเอง, win ตัวที่สองคือครอบครัว คนรอบข้าง สถาบัน, และ win ตัวที่สามคือประเทศชาติ มนุษยชาติ

เมื่อจะทำสิ่งใดขอให้นึกถึงประโยชน์แก่ win ทั้งสามนี้ไว้เสมอ งานที่ดีย่อมก่อประโยชน์ทั้ง 3 ระดับอย่างเหมาะสม สิ่งที่ทำแล้วเราได้ประโยชน์เพียงคนเดียวแต่กลับเบียดเบียนผู้อื่นก็ให้งดเว้น ควรเลือกทำให้สิ่งที่ส่งผลในระดับที่ 2 และ 3 แทน

เมื่อเราก้าวออกจากประโยชน์ส่วนตนไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักแล้ว ความสุขใจย่อมจะตกแก่เราในท้ายที่สุด

#น้อมรับใส่ใจ

๔.

ผมเพิ่งอ่านบทที่ ๑๖ ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด” จบ ตอนนี้ชื่อว่า “โลกที่ดีที่สุด ?” กล่าวถึงนักปรัชญาในยุคสมัยเดียวกัน 2 คนคือ วอลแตร์ และไลบ์นิซ (คนที่คิดค้นแคลคูลัสนั่นแหละ)

บทนี้เน้นภาพความขัดแย้งระหว่างความคิดของนักปรัชญาทั้งสองคน ไลบ์นิซเชื่อว่าโลกในยุคสมัยของเขาเป็นโลกที่ดีที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างทุกอย่างไว้ดีแล้ว แต่วอลแตร์กลับเห็นว่าโลกนี้เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง แวดล้อมด้วยโศกนาฏกรรม ไม่มีทางที่จะสมบูรณ์แบบได้เลย

อ่านแล้ว, ผมคิดเหมือนกับวอลแตร์ ตรงที่ว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกที่สมบูรณ์พร้อม แต่โลกจะพร้อมสมบูรณ์สำหรับเราก็ต่อเมื่อเรา “ทำสวนของเรา” ให้ดี หรือถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ โลกจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่เราลงมือสร้างมันขึ้นมา

ถ้าเราทำสวนของเราให้ดี เราก็มีความสุข แต่หากเราปล่อยปละละเลยสวนของเราให้แห้งเฉาตายไป แล้วมัวแต่เฝ้ารอรับพรจากพระผู้เป็นเจ้า เราอาจจะต้องรอไปจนถึงวันพิพากษาก็เป็นได้

เราอาจไม่ได้อยู่ในโลกที่สมบูรณ์พร้อม แต่โลกของเราจะดีขึ้นถ้าเรายอมรับข้อบกพร่องแล้วแก้ไขให้ลดน้อยลงไป ถ้าเรามองว่าโลกของเรา – ตัวของเรา – ดีพร้อมอยู่เสมอ ไม่ยอมรับข้อบกพร่องใด เราก็อยู่กับข้อบกพร่องนั้นไปจนตาย เท่านั้นเอง

#คิดไปเรื่อยเปื่อย

๕.

แต่ละคนมีต้นทุนชีวิตแตกต่างกัน บางคนเกิดมาสบาย มีเส้นสายทรัพย์ศฤงคารครบครัน คิดทำสิ่งใดก็ได้อย่างใจหวัง ในขณะที่บางคนเกิดมาลำบาก ขาดแคลน ต้องอดทนต่อสู้ทั้งชีวิตเพื่อให้ได้ยืนอยู่ ณ ตำแหน่งเดียวกัน

แม้จะเป็นความสำเร็จเหมือนกัน แต่เส้นทางต่างกัน คุณค่าของความสำเร็จนั้นก็ต่างกันออกไป

เราอยู่ในสังคมที่มองเฉพาะผลสำเร็จ (outcome-based society) เราจึงให้ความสนใจแก่ความสำเร็จของบุคคล โดยละเลยที่จะครุ่นคิดถึงที่มาของความสำเร็จนั้น ไม่คิดสนใจว่าต้นทุนของแต่ละคนมีผลต่อความสำเร็จเพียงไร

นอกจากนี้ เรายังมองความสำเร็จเป็น “จุด” ตายตัว โดยมองข้าม “พิสัย” ของความสำเร็จอันเกิดจากความเพียรพยายาม ไม่สนใจ “ระยะทาง” ของชีวิตที่แต่ละคนฝ่าฟันกันมา ทั้งความจริงแล้วสิ่งนี้อาจมีคุณค่าและน่าภูมิใจมากกว่าความสำเร็จแบบฟ้าประทานด้วยซ้ำไป

ถ้าเราเริ่มต้นด้วยทุนที่น้อยกว่า บางทีเราอาจจะยังไปได้ไม่ไกลเท่ากับคนที่เริ่มต้นด้วยทุนที่มาก แต่หากเราฝ่าฟันมาได้ไกลมากแล้ว ก็น่ายินดีมิใช่หรือ ?

#เรื่อยเปื่อยบ่ายวันเสาร์

เรื่องราวที่ผ่านไปทุกวัน ล้วนแต่เป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ ทั้งบทเรียนที่เปี่ยมสุข และบทเรียนที่ทุกข์โศก; ทุกบทเรียนมีคุณค่าแก่เราเสมอ ขอเพียงแค่เราทบทวนมันอย่างพินิจพิเคราะห์ เราจะมองเห็นประโญชน์จากบทเรียนเหล่านั้นได้ไม่ยากเลย