๑๖๓. เมื่อสมองรำพึงถึงหัวใจ

สมองกับหัวใจ มักถูกกล่าวถึงในฐานะตัวแทนของความขัดแย้งเสมอ
เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล
เมื่อต้องเผชิญกับความต้องการ (หัวใจ)
แต่กลับถูกกดทับด้วยเหตุผล (สมอง)
หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความขัดแย้งระหว่างปัจเจกภาพกับปทัสถานทางสังคม

คงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินให้ชัดเจนลงไป
ว่า ระหว่างสมองกับหัวใจ สิ่งใดที่มีคุณค่ามากกว่ากัน
ในบางสถานการณ์ คนเราอาจต้องการความพึงพอใจให้กับตนเองมากกว่าจะคำนึงถึงเหตุผล
แต่ในบางสถานการณ์ เหตุผลอาจสำคัญกว่าความต้องการส่วนตัว
ขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นเอื้ออำนวยให้เราเลือก, หรือแนะนำให้เราเลือก,
ว่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากัน

ชีวิตที่เต้นไปตามสัญชาตญาณและความพึงพอใจส่วนตัวทั้งหมด
สะท้อนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสัตว์ทั้งมวลในธรรมชาติ
ส่วนชีวิตที่เดินตามกรอบกฏเกณฑ์และเหตุผลทั้งหมด
ก็ฉุดดึงเราให้หลุดลอยจากโลกแห่งความเป็นจริงไป

มันคงจะดีถ้าเราเลือกเต้นและเดินได้อย่างเหมาะสมบนทางสายกลาง
หลุดกรอบบ้าง ล้มกลิ้งบ้าง แต่ก็ยังไปถึงจุดหมายได้
โดยไม่ต้องเบียดเบียนทางเดินของใคร ทั้งยังเป็นที่พึงพอใจแก่ตัวเราเอง

แต่ทางที่ว่านั้นมันอยู่ตรงไหน
สิ่งใดคือความสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ
ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ..

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

Leave a comment

Leave a comment